วันปลอดถุงพลาสติกสากล ( International Plastic BagFree Day) ตรงกับวันที่ 3 กรกฎาคมของปี

วันนี้เป็นวันที่ องค์การโลกปลอดถุงพลาสติก (Plastic Bag Free World Organization) ตั้งขึ้นมาให้เป็นการริเริ่มระดับโลก ในความพยายามที่จะให้ทุกคนตระหนักถึงภาวะที่ขยะพลาสติกกำลังล้นโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้โลกเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

วันปลอดถุงพลาสติกสากล มุ่งกำจัด “พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง”

พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) เป็นพลาสติกที่ใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกในเวลาสั้น ๆ แต่กว่าจะย่อยสลายนั้นใช้เวลานานมาก เช่น ถุงพลาสติก เพื่ออำนวยความสะดวกในการถือ, หลอดพลาสติก ที่อายุการใช้งานสั้นเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น, จานพลาสติก กล่องใส่อาหารพลาสติก รวมไปถึงช้อน และส้อมพลาสติก ที่มีระยะเวลาการใช้งานเพียงแค่ 1 มื้อ เท่านั้น , แก้วน้ำ และแก้วกาแฟ

ในการที่จะกำจัดขยะพลาสติกประเภทนี้ จำเป็นต้องมีการรณรงค์ตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการรณรงค์ให้ใช้วัสดุ แบบที่สามารถนำกลับมาใช้มาใช้ใหม่ได้ เช่นจากถุงพลาสติก เปลี่ยนเป็นถุงผ้า หรือเป็นแบบ Zero-Waste อย่าง พลาสติกชีวภาพ ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สุดท้ายคือ การวางแผนนำขยะพลาสติก ที่มีมูลค่า มารีไซเคิล เพื่อกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่

ปัญหา “ขยะพลาสติก” ในประเทศไทย

สถานการณ์ในประเทศไทยเองก็น่ากังวลไม่แพ้กัน เพราะนอกจากจะมีอัตราการทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากติดอันดับต้น ๆ ของโลกแล้ว ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังพบว่าคนไทยใช้ถุงพลาสติกมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี หรือเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน

ถุงพลาสติกเหล่านี้มีที่มาจาก3 แหล่งหลัก โดยสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดถึงร้อยละ 40 พบว่ามาจากตลาดสดเทศบาลและภาคเอกชน คิดเป็นจำนวน 18,000 ล้านใบต่อปีอีกร้อยละ 30 มาจากร้านขายของชำ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี และอีกร้อยละ 30 มาจากห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี

จากปัญหาที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายจึงเริ่มให้ความสำคัญ โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้รณรงค์ผ่านแคมเปญ “ลดให้ลดรับ” ที่ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2561 จนถึง 31 สิงหาคม 2562 สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้กว่า 2,000 ล้านใบ ซึ่งก็มีการเพิ่มความเข้มข้นของแคมเปญมาโดยตลอด

จนมาถึงแคมเปญ “Everyday Say No to Plastic Bags” ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันดำเนินงานเพื่อลด และเลิกใช้พลาสติกประเภทที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

ห้างสรรพสินค้า และ ร้านสะดวกซื้อ 43 ราย ทั่วประเทศ งดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง

โดยตั้งเป้าที่จะยกเลิกการใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง ทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และกล่องโฟม ให้หมดไปจากประเทศไทย ภายในปี 2564

มุ่งสู่สังคมปลอดขยะพลาสติก

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 1 ปีหลังจากนี้ จะผลักดันให้ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ และร้านค้ารายย่อยทุกร้าน ต้องเลิกแจกถุงพลาสติก พร้อมผลักดันการประกาศกฎหมายงดใช้ถุงพลาสติกในประเทศ และตั้งเป้าว่าจะนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ทั้งหมดในปี 2570 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ (zero waste society) ต่อไปอย่างยั่งยืน

รัฐบาลไทยยังได้เห็นชอบโรดแมพ การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ด้านการจัดการขยะพลาสติกแบบบูรณาการ ทั้งการลด และเลิกใช้พลาสติก โดยใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2562 ได้มีการรณรงค์ให้เลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ๊อกโซ่ และพลาสติกผสมสารไมโครบีท

แม้มาตรการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว ของห้างสรรพสินค้า และ ร้านสะดวกซื้อ จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่การงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ วตามมาตรการเพียงอย่างเดียว อาจยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้ภาพรวม ขยะพลาสติก ลดลง หากผู้คนยังไม่ตระหนัก และให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างแท้จริง ถ้าหากทุกคนร่วมมือไปด้วยกันในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็น นำกลับมาใช้ซ้ำอย่างคุ้มค่าที่สุด และใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “การลด และเลิกใช้พลาสติก” จะเป็นจริงได้อย่างแน่นอน

ที่มา : 

https://www.thebangkokinsight.com/